วันอังคารที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2559

ปรัชญาการศึกษา

ปรัชญาการศึกษา
ความหมายของปรัชญาการศึกษา (Philosophy of Education)
          ปรัชญาการศึกษา เป็นคำที่นำคำว่า ปรัชญา และ การศึกษา มารวมกัน และมีความหมายต่างกัน ดังนี้
ปรัชญาการศึกษา หมายถึง แนวคิด ความเชื่อ และความรู้อันเกี่ยวกับการศึกษา ซึ่งได้แก่ วัตถุประสงค์ของการศึกษา เนื้อหาวิชาที่ให้การศึกษาและวิธีการให้การศึกษา
ปรัชญาการศึกษา เป็น ปรัชญาประยุกต์ เพราะนำแนวความคิดทางปรัชญามาประยุกต์ใช้กับการศึกษา เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อการเรียนการสอนตลอดจนเรื่องอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับความเป็นมนุษย์ด้วย
เมื่อปรัชญาการศึกษาเกี่ยวพันกับแนวความคิด และความเชื่อของบุคคลที่มีต่อการศึกษา ดังนั้น ปรัชญาการศึกษา จึงมีบทบาทสำคัญต่อการจัดการศึกษา นั่นคือ ปรัชญาการศึกษาจะช่วยให้เกิดแนวคิดและกิจกรรมทางการศึกษา มองเห็นภาพรวมของการศึกษาทั้งหมด ช่วยค้นหา แนวคิดและกิจกรรมใหม่ ๆ ในการจัดการศึกษา สรุปได้ว่า ปรัชญาการศึกษาช่วยกำหนดเป้าหมายหรือทิศทางของการศึกษา
โดยทั่วไปปรัชญาการศึกษา แบ่งออกเป็นสาขาต่าง ๆ ดังนี้
1. ปรัชญาการศึกษาสาขาสารัตถนิยม (Essentialism) ได้รับอิทธิพลจากปรัชญาทั่วไปสาขาจิตนิยม (Idealism) และวัตถุนิยม (Realism) นักการศึกษาที่เป็นผู้นำในสาขานี้ได้แก่ William C. Bagley และ Thomas Briggs เป็นต้น
ปรัชญาการศึกษาสาขานี้เชื่อว่า การจัดการศึกษามีจุดมุ่งหมายเพื่อการอนุรักษ์และถ่ายทอดวัฒนธรรมในอดีตให้กับคนรุ่นใหม่ หลักสูตรที่ใช้จะเน้นเนื้อหา (Subject matter) และใช้หลักสูตรเหมือนกันทั่วประเทศ เพื่อให้ได้มาตรฐานเดียวกัน ครูเป็นผู้มีบทบาทสำคัญ เพราะครูเป็นผู้รู้และผู้กำหนดกิจกรรมการเรียนการสอนทั้งหมด ส่วนผู้เรียนจะเป็นผู้ฟังและปฏิบัติตามแนวทางที่ครูหรือสังคมกำหนด ดังนั้นกระบวนการเรียนการสอนจึงเน้นครูเป็นศูนย์กลาง (Teacher-centered Approach) โดยใช้การสอนแบบบรรยายเป็นหลัก
2. ปรัชญาการศึกษาสาขานิรันตรนิยม (Perennialism) ได้รับอิทธิพลจากปรัชญาทั่วไปสาขาวัตถุนิยม (Realism) และจิตนิยม (Idealism) นักการศึกษาที่เป็นผู้นำในสาขานี้ ได้แก่ Robert M.Hutchin และ Mortimer J. Adler เป็นต้น
ปรัชญาการศึกษาสาขานี้ เชื่อว่า การจัดการศึกษามีจุดมุ่งหมายเพื่อพัฒนาสติปัญญา และการใช้เหตุผลของมนุษย์เพื่อให้เป็นคนโดยสมบูรณ์ รวมทั้งการถ่ายทอดวัฒนธรรม หลักสูตรที่ใช้จะเน้นหลักสูตรศิลปศาสตร์ (Liberal Arts Curriculum) โดยเน้นวิชาไตรภาค (Three R’s) คือ การอ่าน การเขียน และการเรียนเลข เนื้อหาวิชาที่สำคัญจะบรรจุในหนังสือยอดเยี่ยมที่สุดเรียกว่า The Great Book ส่วนครูผู้สอนจะเป็นผู้จัดกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้พัฒนาทั้งด้านความคิดและสติปัญญา สำหรับผู้เรียนซึ่งมีศักยภาพอยู่แล้วจะต้องฝึกฝนเพื่อพัฒนาความคิดและสติปัญญาภายใต้การแนะนำของครู ดังนั้นกระบวนการเรียนการสอนจะใช้การสอนแบบอภิปราย
3. ปรัชญาการศึกษาสาขาพิพัฒนนิยม (Progressivism) ได้รับอิทธิพลจากปรัชญาทั่วไปสาขาปฏิบัตินิยม (Experimentalism) นักการศึกษาที่เป็นผู้นำในสาขานี้ ได้แก่ John Dewey และ William James เป็นต้น
ปรัชญาการศึกษาสาขานี้เชื่อว่า การจัดการศึกษามีจุดมุ่งหมาย เพื่อพัฒนาผู้เรียนทุกด้าน ทั้งร่างกาย อารมณ์ สังคม อาชีพและสติปัญญา ตามความถนัด ความสนใจของผู้เรียน โดยให้ ผู้เรียนสามารถปรับตัวให้เข้ากับสังคมได้อย่างมีความสุข หลักสูตรที่ใช้จะเป็นหลักสูตรแบบประสบการณ์ (Activity centered Curriculum) ซึ่งเนื้อหาที่เรียนจะต้องเป็นประโยชน์กับชีวิต ประจำวัน สำหรับครูผู้สอนจะช่วยกระตุ้น แนะนำ และประสานงาน ส่วนผู้เรียนมีความสำคัญมาก เพราะจะเกิดการเรียนรู้จากการลงมือกระทำด้วยตนเอง (Learning by doing) อย่างอิสระ ดังนั้น ในกระบวนการเรียนการสอน ผู้เรียนจึงเป็นศูนย์กลาง (Student centered Approach) คือ ผู้เรียน มีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรม และเรียนรู้จากประสบการณ์ตรง ซึ่งเป็นกระบวนการที่ต่อเนื่องตลอดเวลา
4. ปรัชญาการศึกษาสาขาปฏิรูปนิยม (Reconstructionism) ได้รับอิทธิพลจากปรัชญาทั่วไปสาขาปฏิบัตินิยม (Experimentalism) ที่ได้นำมาปรับปรุงบางส่วน นักการศึกษาที่เป็นผู้นำใน สาขานี้ ได้แก่ George S. Counts และ Theodore Brameld เป็นต้น
ปรัชญาการศึกษาสาขานี้ เชื่อว่า การจัดการศึกษามีจุดมุ่งหมายเพื่อช่วยแก้ปัญหาและพัฒนาสังคม โดยยึดหลักประชาธิปโตยในการจัดระเบียบใหม่ของสังคมจากพื้นฐานเดิมที่มีอยู่ หลักสูตรที่ใช้เน้นสังคม (Social Oriented Curriculum) คือ ทำความเข้าใจกับสภาพสังคมมองเห็นปัญหา และหาแนวทางแก้ไขได้ สำหรับครูผู้สอนจะเป็นนักแก้ปัญหาตามแนวทางประชาธิปไตย ส่วนผู้เรียนจะได้รับการปลูกฝังให้เห็นประโยชน์ของสังคมมากกว่าตนเอง รู้จัก ทำงานร่วมกับผู้อื่นและสามารถวิเคราะห์และแก้ไขปัญหาสังคม ดังนั้นกระบวนการเรียนการสอนจึงเน้นการเรียนรู้ที่เกิดจากการลงมือกระทำด้วยตนเอง เน้นวิธีการทางวิทยาศาสตร์
5. ปรัชญาการศึกษาสาขาอัตถิภาวนิยม (Existentialism) ได้รับอิทธิพลจากปรัชญาทั่วไปสาขาภววาท (Existentialism) นักการศึกษาที่เป็นผู้นำในสาขานี้ คือ Soren Kierkegaard และ Van Cleve Morris เป็นต้น
ปรัชญาการศึกษาสาขานี้ เชื่อว่า การจัดการศึกษามีจุดมุ่งหมายเพื่อพัฒนาบุคคลให้เป็นตัวของตัวเอง มีเสรีภาพในการเลือก ตัดสินใจ และมีความรับผิดชอบ หลักสูตรที่ใช้มุ่งเน้น ศิลปศาสตร์ (Liberal Education) ซึ่งสนใจในวิชามนุษยวิทยา ส่วนครูผู้สอนจะมีหน้าที่กระตุ้นให้ผู้เรียนรู้จักตนเอง และพัฒนาศักยภาพให้มากที่สุดสำหรับผู้เรียนจะเป็นบุคคลที่มีความสำคัญที่สุดเพราะมีเสรีภาพมากที่สุดในการเลือกเรียน ดังนั้นกระบวนการเรียนการสอนจึงเน้นที่รายบุคคล และความสนใจของแต่ละบุคคลเป็นสำคัญ โดยใช้วิธีสอนที่ช่วยกระตุ้นผู้เรียนให้เป็นตัวของตัวเองมากที่สุด
6. ปรัชญาการศึกษาสาขามนุษยนิยม (Humanism) ได้รับอิทธิพลจากนักปรัชญา หลายท่าน เช่น Aritstotle, Rousseau และ Pestalozzi เป็นต้น โดยมีความเชื่อว่า มนุษย์ทุกคน ใฝ่ดี เรียนรู้ได้ แต่อัตราการเรียนรู้ของแต่ละคนมีความแตกต่างกัน ระบบการศึกษาโดยเฉพาะ โรงเรียนได้ทำลายความคิดของมนุษย์ เพราะโรงเรียนพยายามทำให้มนุษย์รู้สึกนึกคิดและปฏิบัติตนตามที่สังคมต้องการ
ปรัชญาการศึกษาสาขานี้ เชื่อว่า การจัดการศึกษาจะมีจุดมุ่งหมายเพื่อพัฒนาบุคคลไปสู่การรู้จักตนอันอุดม (Self-Actualization) และมีชีวิตที่ดี หลักสูตรที่ใช้เน้นหลักสูตรรายบุคคลที่มุ่ง พัฒนาศักยภาพของแต่ละบุคคลไปจนถึงขีดสูงสุด เพื่อความเป็นเลิศทางปัญญา รวมทั้งด้านอารมณ์ และทัศนคติ ส่วนครูผู้สอนจะเป็นผู้ชี้แนะ หรือเอื้ออำนวยต่อการเรียนรู้ สำหรับผู้เรียนจะมีอิสระในการคิด เลือก และตัดสินใจในการเรียน มีส่วนร่วมและลงมือกระทำกิจกรรมต่าง ๆ ด้วยตนเอง เพื่อให้เกิดการเรียนรู้จากประสบการณ์ตรง ดังนั้น กระบวนการเรียนการสอนจึงเน้นกระบวน การเรียนมากกว่ากระบวนการสอน โดยเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้รับประสบการณ์อย่างกว้างขวางครอบคลุมทั้งบุคคล ทั้งในด้านสมอง จิตใจ ความคิดและอารมณ์ความรู้สึก ทั้งนี้จะมีการนำวิธีการของสมาธิและโยคะมาผสมผสานกับกระบวนการเรียน

จากแนวคิดของปรัชญาการศึกษาสาขาต่าง ๆ จะเห็นได้ว่า ในการจัดการศึกษาจะเป็นไปตามแนวคิดใดนั้น ผู้จัดการศึกษาให้มีคุณภาพต้องคำนึงถึงสภาพแวดล้อมทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ เทคโนโลยี ฯลฯ และ แนวคิดจากปรัชญาการศึกษาสาขาต่าง ๆ มาปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับประเทศ ของตนเป็นลักษณะที่เรียกว่า ผสมผสาน (Eclecticism)

ที่มา : https://chaianan2.wikispaces.com/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น