วันจันทร์ที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2560

บทที่ 1 ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการจัดการศึกษาทั่วไป

บทที่ 1 ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการจัดการศึกษาทั่วไป
1.1 คำนำ
การศึกษาเล่าเรียนเป็นกิจกรรมสำคัญของมนุษย์ในการพัฒนาตนเองให้มีจริยธรรมมีความรู้ในการประกอบอาชีพดำรงตนอยู่ในสังคมอย่างมีความสุขโดยไม่เบียดเบียนใครมนุษย์ไม่ได้เรียนเพื่ออนาคตอย่างเดียวแต่ต้องเรียนเพื่อปัจจุบันด้วยการศึกษาไม่ได้จำกัดวงอยู่แค่ขอบรั้วโรงเรียนมนุษย์สามารถศึกษาเล่าเรียนได้ทุกสถานที่ทุกเวลาทุกช่วงอายุในการดำรงชีวิตประจำวันนั้นต้องใช้ผลของการศึกษาเล่าเรียนมาประยุกต์ใช้กับการดำเนินชีวิตทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัวก็ตาม
การจะเข้าใจการศึกษาให้ชัดเจนขึ้นควรมีความรู้เบื้องต้นของการศึกษาหลักการจัดการศึกษาประวัติความเป็นมาของการศึกษาไทยถ้าปราศจากการศึกษาแล้วมนุษย์ก็ปราศจากคุณภาพการศึกษาจึงเป็นการยกฐานะของมนุษย์ให้เป็นผู้มีความเจริญทั้งทางพัฒนาการของร่างกายอารมณ์และจิตใจเหมาะสมกับวัยมีคุณสมบัติที่พึงพอใจและเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาสังคมทุกสังคมทั่วโลกจึงจำเป็นต้องจัดการศึกษาให้แก่ประชาชนของตนสิทธิของการศึกษาจึงจัดว่าเป็นสิทธิพื้นฐานอีกอย่างหนึ่งที่มีความสำคัญมากซึ่งรักจะต้องจัดให้กับประชาชนของตนเองเพื่อเป็นการพัฒนามนุษยชาติให้มีความเสมอภาคการพัฒนาความสามารถของแต่ละคนให้เจริญก้าวหน้าซึ่งจะเป็นประโยชน์โดยรวมต่อสังคมในประเทศนั้นๆและแก่สังคมโลกโดยอ้อม
1.2 ความหมายการศึกษาตามรูปศัพท์
คำว่า  education ในภาษาอังกฤษมีรากศัพท์มาจากภาษาละตินว่า  educare  แปลว่าบำรุงเลี้ยงอบรมรักษาทำให้งอกงามหรืออีกนัยหนึ่ง  education หมายถึงการอบรมเด็กทั้งกายและทางสมองส่วนคำว่า การศึกษา ในภาษาไทยนั้นเป็นคำมาจากภาษาสันสกฤตตรงกับภาษาบาลีว่าสิกขาพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานพ. ศ. 2525 ให้ความหมายว่าการเล่าเรียนฝึกฝนและอบรม
1.2.1 ความหมายของการศึกษาตามทัศนะของชาวต่างประเทศ
พราโต   กล่าวว่าการศึกษาคือการเปลี่ยนแปลงความคิดหรือวิญญาณของมนุษย์ education is conversion human  soul คือการพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้นจากโลกมืดไปสู่โลกที่สว่างโลกที่สว่างนี้แบ่งออกเป็นสองโลกคือโลกแห่งสติปัญญาโลกแห่งประสาทสัมผัสสิ่งเหล่านี้เป็นเพียงสิ่งที่ใช้เป็นการแสวงหาความจริงเท่านั้นไม่ใช่ความจริงแท้
อริสโตเติล ชาวกรีกกล่าวว่าการศึกษาหมายถึงการอบรมคนให้เป็นพลเมืองดีและดำเนินชีวิตด้วยการทำดี
ฟรานซิส เบคอน กล่าวว่าการศึกษาคือทำให้คนมีเหตุมีผลให้เข้าถึงความจริงที่ตรงกันเบคอนเห็นว่าความจริงมีเพียงหนึ่งเดียวตามแนวทัศนะนี้จิตมนุษย์เหมือนกับกระจกเงาจะสะท้อนภาพชัดเจนก็ต่อเมื่อได้มีการชำระฝ้าจิตจะเข้าถึงต้องกำจัดอคติ
จอห์น ล็อค ชาวอังกฤษกล่าวว่า การศึกษาคือองค์ประกอบของพลศึกษาจริยศึกษาและพุทธิศึกษา
ยอง ยัคส์ รุสโซ กล่าวว่าการศึกษาคือการนำความสามารถในตัวบุคคลมาใช้ให้เกิดประโยชน์โดยการจัดการศึกษาต้องสอดคล้องกับธรรมชาติของบุคคล
จอห์น ดิวอี้ ชาวอเมริกันกล่าวว่าการศึกษาคือชีวิตไม่ใช่เป็นการเตรียมตัวเพื่อชีวิตในภายหน้าการศึกษาคือความเจริญงอกงามทั้งในด้านร่างกายอารมณ์สังคมและสติปัญญาเป้าหมายทางการศึกษาคือชีวิตมนุษย์ต้องการให้มนุษย์เป็นอย่างไรก็กำหนดเป้าหมายขึ้นไว้การศึกษาเป็นพลวัตมีการเปลี่ยนแปลงได้ระบบการศึกษาที่มีเป้าหมายชัดเจนสมบูรณ์จะต้องจัดเพื่อพัฒนาทั้งในแง่สติปัญญาเหตุผลอารมณ์และร่างกายของผู้เรียน
ธีโอดอร์ ชูลท์  นักเศรษฐศาสตร์กล่าวว่าการศึกษาคือการลงทุนอย่างหนึ่งของมนุษย์เพื่อประโยชน์ของตนเองเพราะการศึกษาช่วยให้บุคคลพัฒนาความสามารถและความเจริญงอกงามในด้านต่างๆ
ทัลคอทท์ พาร์สัน  นักสังคมวิทยากล่าวว่าการศึกษาคือเครื่องมือเตรียมเด็กและเยาวชนให้มีบทบาทในวงการอาชีพต่างๆของผู้ใหญ่
1.2.2 ความหมายของการศึกษาตามทัศนะของนักการศึกษาไทย
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ศึกษา หมายถึง การเล่าเรียน ฝึกฝน อบรม ในภาษาบาลีใช้คำว่า สิกขา หมายถึง ข้อที่ต้องศึกษาข้อที่ต้องปฏิบัติ
สาโรช บัวศรี ให้ความหมายว่าการศึกษาคือการพัฒนาขันธ์ 5 โดยใช้มรรค 8 เพื่อให้อกุศลมูลคือความโลภความโกรธความหลงลดน้อยลงหรือเบาบางลงมากที่สุดขันธ์ 5 ประกอบด้วยรูปคือร่างกายเวทนาคือความรู้สึกสัญญาคือความทรงจำสังขารคือเครื่องปรุงแต่งเช่นทัศนคติความสนใจความสามารถและทักษะเป็นต้นวิญญาณคือการเกิดความรู้
วิจิตร ศรีสอ้าน กล่าวว่าการศึกษาเป็นกระบวนการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของบุคคลให้เป็นไปในแนวทางที่พึงปรารถนาการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมนี้เป็นไปอย่างจงใจมีการกำหนดจุดมุ่งหมายและดำเนินการอย่างเป็นระบบมีกระบวนการเหมาะสมและผ่านสถาบันทางสังคมที่ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ด้านการศึกษา
พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ. ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2)พ. ศ. 2545 ให้ความหมายของการศึกษาไว้ว่า
การศึกษาคือกระบวนการเรียนรู้เพื่อความเจริญงอกงามของบุคคลและสังคมโดยการถ่ายทอดความรู้การฝึกการอบรมการสืบสานทางวัฒนธรรมการสร้างสรรค์จรรโลงความก้าวหน้าทางวิชาการการสร้างองค์ความรู้อันเกิดจากการจัดสภาพแวดล้อมทางสังคมการเรียนรู้และปัจจัยเกื้อหนุนให้บุคคลเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต
โดยสรุปการศึกษาคือความเจริญงอกงามเพราะเป็นกระบวนการดึงออกและพัฒนาให้เจริญงอกงามขึ้นการศึกษาเป็นการใส่เข้าไปการศึกษาจะมีลักษณะ1คงที่คือความรู้จะไม่มีการพัฒนาขึ้นจะมีเฉพาะที่อาจารย์บอกเท่านั้นอาจารย์หมดความรู้ก็เป็นอันว่าจบกันเท่านั้น 2 ขาดหายไปคือยิ่งนานวันเข้าความรู้ที่มีอยู่ก็จะหดหายไปทีละน้อยน้อยเพราะตกหล่นหรือจะเป็นเพราะอะไรก็แล้วแต่ในที่สุดอาจจะหมดไปเลยก็ได้
ดังนั้นการศึกษาจึงมีความหมายพอสรุปได้ดังนี้
          1. เป็นกระบวนการหรือการกระทำที่ให้ความรู้หรือทักษะระบบการสอนหรือการเรียน
          2. เป็นการได้รับความรู้หรือทักษะผ่านกระบวนการจากโรงเรียน
3. ความรู้หรือทักษะที่ได้รับหรือพัฒนาโดยกระบวนการเรียนรู้หรือโครงการของการสอนในระดับเฉพาะทาง
4. สาขาของการศึกษาซึ่งเกี่ยวข้องกับการสอนการเรียนรู้รวมทั้งทฤษฎีของการสอนและศาสตร์ของการสอน
1.3 ความสำคัญของการศึกษา
การศึกษาเป็นพื้นฐานที่สำคัญที่สุดในการพัฒนาสังคมให้คนซึ่งเป็นสมาชิกของสังคมเป็นคนมีคุณภาพคุณธรรม กล่าว คือการศึกษาช่วยสร้างจิตสำนึกในการเป็นมนุษย์มีจิตวิญญาณของผู้มีอารยธรรมทางปัญญาและความงดงามทางจิตใจการศึกษาสร้างให้คนมีความรู้ในการดำรงชีวิตการประกอบอาชีพมีความอดทนในการต่อสู้กับอุปสรรคของชีวิตการศึกษาเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับคนทุกวัยการศึกษามีความสำคัญหลายประการดังนี้
1.การศึกษาช่วยขัดเกลาให้คนเป็นมนุษย์ดังคำกล่าวของท่านพุทธทาสภิกขุว่าเป็นมนุษย์เป็นได้เพราะใจสูงเหมือนหนึ่งยูงมีดีที่แววขนถ้าใจต่ำเป็นได้แต่คนย่อมเสียทีที่ตนได้เกิดมา
2.การศึกษาช่วยอบรมพลเมืองให้เป็นผู้ที่มีคุณภาพชีวิตสามารถช่วยให้ตนเองดำเนินชีวิตอยู่ได้อย่างมีความสุขอย่างมีปัญญา
3.การศึกษาช่วยค้ำจุนให้ชาติสามารถดำรงอยู่ได้เพราะการศึกษาเป็นกระบวนการหนึ่งในการปลูกฝังความรักและหวงแหนในสิ่งที่แสดงความเป็นชาติได้แก่ศิลปวัฒนธรรมทรัพยากรธรรมชาติเอกราชอาณาเขต
4.การศึกษาช่วยสร้างพลเมืองให้มีความรู้ความสามารถในการประกอบอาชีพในการเลี้ยงตนเองและครอบครัว

5.การศึกษาช่วยให้รู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลกและสามารถปกป้องตนเองและประเทศชาติให้ดำรงสถานภาพอยู่ได้ในสังคมโลกอย่างมีเสถียรภาพ

วันเสาร์ที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2560

ทฤษฎีหลักการบริหารการจัดการ

1.ชื่อทฤษฎี      POCCC
2.เนื้อหาของทฤษฎี
เฮนรี่ ฟาโยล (Henri Fayol) ได้สรุปเป็นทฤษฎีว่า หากวันหนึ่งคุณต้องอยู่ในสภาวะที่ต้องใช้คนจำนวนมากๆ ในการทำงานแล้วละก็หัวใจของการบริหารจัดการเพื่อให้งานสำเร็จตามเป้าหมายนั้น มีองค์ประกอบด้วยกัน           
5  ปัจจัย เรียกว่า POCCC  มีดังนี้
 การวางแผน (Planning)
 การจัดองค์การ (Organizing)
 การบังคับบัญชาหรือการสั่งการ (Commanding)
 การประสานงาน (Coordinating)
 การควบคุม (Controlling)

จากหลักการด้านการจัดการของ Fayol นั้น เป็นการอำนวยความสะดวกแก่ผู้จัดการในองค์การเป็นอย่างมาก Fayol ได้กล่าวว่า หลักการของเขาไม่ใช่เป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ขึ้นอยู่กับการนำไปใช้ประโยชน์ในงานต่างๆ หลักการของ Fayol มีลักษณะเป็นสากลซึ่งต่อมาได้มีการอธิบายขยายความต่อโดย Sheldon, Urwick และ Barnard
ทฤษฎีการบริหารของ Fayol ยอมรับองค์กรที่เป็นทางการ โดยใช้ประโยชน์จากการแบ่งงานกันทำ (Specialization) และเน้นถึงความสำคัญที่ว่าอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบต้องเท่ากัน โดย Fayol ระบุเป้าหมายที่สำคัญขององค์การ คือ ความเป็นระเบียบ ความมั่นคง ความคิดริเริ่ม และความสามัคคี นักทฤษฎีการบริหารจะต้องเป็นนักปฏิบัติอย่างแท้จริง ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับนักทฤษฎีระบบองค์การขนาดใหญ่แล้ว สิ่งที่พวกเขาสนใจและให้ความสำคัญ คือ หลักการและแนวคิดสำหรับการประสบความสำเร็จขององค์การซึ่งเป็นทางการ นักทฤษฎีระบบองค์การขนาดใหญ่จะกล่าวถึงลักษณะที่ควรจะเป็น ส่วนนักทฤษฎีการบริหารจะมองในลักษณะที่ว่า จะทำให้องค์การประสบความสำเร็จได้อย่างไร กล่าวคือ ให้ความสำคัญกับการบริหาร ว่าเป็นส่วนประกอบที่สำคัญขององค์การ

3.ชื่อเจ้าของทฤษฎี       เฮนรี่ ฟาโยล (Henri Fayol)



ทฤษฎีหลักการบริหาร
1.ชื่อทฤษฎี      PDCA หรือ Deming Cycle
2.เนื้อหาของทฤษฎี
Dr. William Edwards Deming ได้พัฒนาวงจร PDCA ขึ้นมาจากแนวคิดของ Dr. W.A. Shewhart ในระยะแรกรู้จัก วงจร PDCA ในนาม Shewhart Cycle จากนั้น Dr. William Edwards Deming ได้นำพัฒนาปรับใช้ในการควบคุมคุณภาพในวงการอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น จึงมีชื่อเรียกว่า Deming Cycle (สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น, 2552)
Dr. William  Edwards  Deming มีความเชื่อว่า คุณภาพสามารถปรับปรุงได้ จึงเป็นแนวคิด ของการพัฒนาคุณภาพงานขั้นพื้นฐาน เป็นการกำหนดขั้นตอนการทำงานเพื่อสร้างระบบการผลิตให้สินค้ามีคุณภาพดี การให้การบริการดี หรือทำให้กระบวนการทำงานเป็นไปอย่างมีระบบโดยใช้ได้กับทุกๆสาขา วิชาชีพแม้กระทั่งการดำเนินชีวิตประจำวันของมนุษย์
PDCA หรือ Deming Cycle คือ วงจรการบริหารงานคุณภาพ ประกอบด้วย
P (Plan) คือ   ขั้นตอนการวางแผน เพื่อเลือกปัญหา ตั้งเป้าหมายการแก้ปัญหา และวางแผนแก้ปัญหา
                   D (Do)   คือ   ขั้นตอนการดำเนินการแก้ไขปัญหาตามแนวทางที่วางไว้
                   C (Check)   คือ   ขั้นตอนการตรวจสอบ และเปรียบเทียบผล
                   A (Action)   คือ    การกำหนดเป็นมาตรฐานและปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้น
เพื่อที่จะนำไปสู่การดำเนินการแก้ปัญหา ปรับปรุง และพัฒนางานให้สำเร็จลุล่วงไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้  คือ วงจรเดมมิ่ง (Deming Cycle)
การนำวงจร PDCA ไปใช้อย่างสัมฤทธิผล
          Plan :  ผู้บริหารกำหนดแผนงานร่วมกับพนักงานทุกระดับ
          Do :     พนักงานนำไปปฏิบัติตามแผนงานโดยได้รับความช่วยเหลือจากหัวหน้างาน
          Check : ตรวจสอบเพื่อค้นหาปัญหาข้างเคียงและวิธีแก้ไขที่เหมาะสมที่สุด
          Act :     กำหนดวิธีแก้ไขเป็นมาตรฐานเพื่อให้พนักงานนำไปปฏิบัติได้สะดวก

3.ชื่อเจ้าของทฤษฎี       Dr. William Edwards Deming

การศึกษาวอลดอร์ฟ(Waldorf Education)

๑. ประวัติความเป็นมาความสำคัญ


๑.๑ ประวัติความเป็นมา



 รูดอล์ฟ สไตเนอร์ (๑๘๖๑-๑๙๒๕) นักปรัชญาผู้ก่อตั้งการศึกษาวอลดอร์ฟ เกิดเมื่อปี ค.ศ. ๑๘๖๑ ในฮังการี การศึกษาของเขาในช่วงต้น คือ วิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ผลงานเขียนในระยะแรกเกี่ยวกับปรัชญาของคานต์ (Kant) ต่อมาเขาได้ศึกษาวิชาวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ ปรัชญา และวรรณคดี และศึกษางานของเกอเธต์อย่างลึกซึ่งจนสามารถเป็นบรรณาธิการงานเขียนทางวิทยาศาสตร์ของเกอเธตและซิลเลอร์ นักปรัชญาชาวเยอรมันที่มีชื่อเสียง รูดอล์ฟ สไตเนอร์ พัฒนาปรัชญาของเขาต่อมาอีก ด้วยการทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก เรื่องทฤษฎีว่าด้วยความรู้ อันเป็นผลงานชิ้นสำคัญในชีวิต โดยได้รับการตีพิมพ์ในชื่อ The Philosphy of Freedom “ปรัชญา แห่งความเป็นอิสระและหลุดพ้น” งานของเขาตั้งแต่นั้นจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต คือ การศึกษาเรื่องธรรมชาติของมนุษย์และการแสวงหาความจริง มนุษย์ปรัชญา (Anthroposophy) ซึ่งเขาพัฒนาขึ้น ถือเป็นศาสตร์แห่งจิตวิญญาณ (Spiritual Science) ที่ก้าวพ้นความจำกัดของการแสวงหาความจริงเฉพาะจากการรับรู้ที่เป็นรูปธรรมตามปรัชญาของคานต์ไปสู่การแสวงหาความจริงจากการรับรู้ของทั้งกายและจิต ทั้งที่เป็นรูปธรรมและนามธรรม ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่มิได้แยกจากอารมณ์ ความรู้สึก แต่อยู่คู่กันอย่างกลมกลืน จะนำมนุษย์ไปสู่ความเป็นหนึ่งเดียวกับสรรพสิ่ง นั่นคือ อิสระและการหลุดพ้น มนุษย์ปรัชญานี้เป็นพื้นฐานของการศึกษาวอลดอร์ฟ
โรงเรียนวอลดอร์ฟแห่งแรกตั้งขึ้นในช่วงเวลาแห่งความยากลำบากของชาวเยอรมัน หลังสงครามโลกครั้งที่ ๑ ชาวเยอรมันพยายามแสวงหาวิธีการเปลี่ยนแปลงสังคมที่โหดร้ายทารุณต่อมนุษยชาติให้สิ้นไป เอมิล มอลต์ ผู้อำนวยการโรงงานยาสูบ วอล ดอร์ฟแอสโทเรีย ที่สตุทการ์ท เป็นนักอุตสาหกรรมที่ต้องการเปลี่ยนทิศทางของสังคมเสียใหม่ใน ค.ศ.๑๙๑๙ เขาได้เชิญ สไตเนอร์ไปบรรยายแนวคิดของเขาให้คนงานในโรงงานฟังและได้รับคำขอร้องจากทางโรงงานให้เปิดโรงเรียนตามปรัชญาของเขาให้แก่บุตรหลานของคนงาน รวมทั้งเปิดหลักสูตรสำหรับการศึกษาผู้ใหญ่ด้วย
การศึกษาวอลดอร์ฟ เป็นส่วนหนึ่งของการเคลื่อนไหวตามมนุษย์ปรัชญา (Anthroposophy) เพื่อฟื้นฟูวัฒนธรรมให้สามารถพัฒนามนุษย์ให้ได้ถึงส่วนลึกที่สุดของจิตใจ การเคลื่อนไหวตามปรัชญานี้ก่อให้เกิดการพัฒนาในศาสตร์สาขาต่างๆ ที่เกี่ยวกับชีวิตมนุษย์ เพื่อนำไปใช้ในโรงเรียน ชุมชน และสังคมศาสตร์เหล่านั้นได้แก่ การแพทย์ เภสัชกรรม สถาปัตยกรรม เกษตรกรรม การธนาคารชุมชน วิทยาศาสตร์ธรรมชาติแบบเกอเธต์ การละคร ดนตรีและศิลปะ ศิลปะการเคลื่อนไหวแบบยูริธมีการศึกษา การศึกษาพิเศษ ศิลปะบำบัดจิตวิทยาการแนะแนวแบบร่วมมือ
ตลอดเวลา ๘๐ ปีที่ผ่านมานับตั้งแต่มีการก่อตั้งโรงเรียนวอลดอร์ฟแห่งแรกขึ้น การศึกษาวอลดอร์ฟได้แพร่หลายไปทั่วโลก ปัจจุบันมีโรงเรียนอนุบาลตามแนวนี้ ๑๐๘๗ โรง โรงเรียนประถมศึกษาและมัธยมศึกษา ๖๔๐ โรง ศูนย์บำบัดกว่า ๓๐๐ แห่ง และสถาบันฝึกหัดครูกว่า ๕๐ แห่ง ใน ๕๖ ประเทศทั่วโลก


๑.๒ ปรัชญาแนวคิด

              ๑.๒.๑ แนวคิดเกี่ยวกับมนุษย์

มนุษย์มีชีวิตอยู่ใน ๓ โลก คือ โลกแห่งวัตถุ (physical world) โลกแห่งความรู้สึก (soul world) และโลกแห่งจิตวิญญาณ (spiritual world) โดยผ่านรูปกาย (physical body) กายแห่งความรู้สึก (etheric body and astral body)และจิตวิญญาณ (spirit)
มนุษย์ก่อกำเนิดในโลกแห่งวัตถุ เติบโตผ่านโลกแห่งความรู้สึกและผลิบานในโลกแห่งจิตวิญญาณมนุษย์ประกอบด้วยส่วนต่างๆ ดังนี้
. รูปกาย (physical body) เป็นส่วนที่พัฒนาอวัยวะรับรู้ความรู้สึก เพื่อเรียนรู้ความจริงในโลกแห่งวัตถุ และพัฒนาอวัยวะสำหรับการหยั่งรู้เพื่อเรียนรู้ความจริงในโลกแห่งจิตวิญญาณ รูปกายมีคุณสมบัติร่วมกับธาตุต่างๆ ในโลก อันมีธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ เป็นสำคัญ
. กายชีวิตหรืออินทรีย์แห่งปราณ (life or etheric body) เป็นส่วนที่หล่อเลี้ยงรูปกายให้เจริญเติบโต มีคุณสมบัติแห่งชีวิตที่มนุษย์มีร่วมกับพืช
. กายแห่งผัสสะ (astral body) เป็นส่วนที่ทำให้มนุษย์มีความรู้สึกนึกคิด มีคุณสมบัติแห่งสัญชาตญาณที่มนุษย์มีร่วมกับสัตว์
. จิตแห่งความรู้สึก (sentient soul) เป็นดวงจิตที่รับรู้โลกภายนอก ผ่านกายแห่งผัสสะ (astral body) ทำให้เกิดความต้องการและความรู้สึกต่างๆ เช่น โลภ โกรธ หลง ดวงจิตนี้ยังมีคุณสมบัติที่มนุษย์มีร่วมกับสัตว์
. จิตแห่งปัญญา (intellectual soul) เป็นดวงจิตที่สูงกว่าดวงจิตแห่งความรู้สึก เนื่องจากมีความคิดเหตุผลเพิ่มขึ้นแต่ก็ยังพัวพันกับดวงจิตแห่งความรู้สึก ซึ่งยังมีความต้องการและความรู้สึกต่างๆ อยู่
. จิตสำนึก (consciousness or spiritual soul) เป็นสำนึกที่ลึกลงไปในดวงจิต ซึ่งทำให้ดวงจิตปราศจากอคติ ไม่ว่าจะเป็นการรังเกียจเดียดฉันท์หรือการเข้าข้างพวกพ้อง
. จิตวิญญาณแห่งตัวฉัน (spirit self) เป็นจิตวิญญาณของเอกัตบุคคลที่รับรู้โลกแห่งจิตวิญญาณผ่านการหยั่งรู้ (intuition) ที่เกิดขึ้นในตัวอันเป็นผลจากภาพสะท้อนของความรู้สึกที่เกิดขึ้นภายในตัว จากโลกของวัตถุ และจากภาพสะท้อนของความจริงและความดี นิรันดรจากโลกแห่งจิตวิญญาณ จิตวิญญาณแห่งตัวฉัน (spirit self) เป็นกายแห่งผัสสะ (astral body) ที่พัฒนาแล้ว
. จิตวิญญาณแห่งชีวิต (life spirit) เป็นพลังชีวิตของจิตวิญญาณ เช่นเดียวกับที่กายชีวิตหรืออินทรีย์แห่งปราณ (life or etheric body) เป็นพลังชีวิตที่หล่อเลี้ยงรูปกาย (physical body) ให้เติบโตรูปกายมีผิวกายจำกัดขอบเขต ทำให้แต่ละคนรู้สึกกับธาตุต่างๆ ในโลกไม่เหมือนกัน จิตวิญญาณก็มีผิวของจิตวิญญาณ (spiritual skin หรือ auras heath) ซึ่งทำหน้าที่จำกัดหรือแยกขอบเขตของจิตวิญญาณของเอกัตบุคคลให้เป็นอิสระจากโลกของจิตวิญญาณ ในขณะที่ผิวกายจำกัดขอบเขตการเจริญเติบโตของรูปกาย ผิวของจิตวิญญาณ (spiritual skin) สามารถขยายเพื่อรับการหล่อเลี้ยงความรู้จากโลกของจิตวิญญาณได้ไม่สิ้นสุด จิตวิญญาณแห่งชีวิต (life spirit) เป็นกายชีวิต (life body) ที่พัฒนาแล้ว
. มนุษย์ที่มีจิตวิญญาณของความเป็นมนุษย์ (spirit man) เป็นผู้ที่มีจิตวิญญาณที่เป็นอิสระจากโลกของวัตถุและโลกของจิตวิญญาณ มนุษย์ที่มีจิตวิญญาณของความเป็นมนุษย์ได้รับการหล่อเลี้ยงทางจิตวิญญาณ จากจิตวิญญาณแห่งชีวิต (life spirit) ซึ่งอยู่ภายใต้ผิวของจิตวิญญาณ (spiritual skin) เช่นเดียวกับที่รูปกาย (physical body) ได้รับการหล่อเลี้ยงจากกายชีวิต (life or etheric body) มนุษย์ที่มีจิตวิญญาณของความเป็นมนุษย์ (spirit man) คือ รูปกาย (physical body) ที่ผ่านการพัฒนาทางจิตวิญญาณแล้ว

            ๑.๒.๒ ทฤษฎีพัฒนาการ

พัฒนาการของมนุษย์ในช่วงแรกเกิด-๒๑ ปี
รูดอล์ฟ สไตเนอร์ ได้แบ่งพัฒนาการตลอดชีวิตมนุษย์ไว้ช่วงละ ๗ ปี ช่วงที่เด็กพัฒนาในระบบการศึกษา คือตั้งแต่แรกเกิดถึง ๒๑ ปี ซึ่งครอบคลุมพัฒนาการ ๓ ช่วงแรก มีลักษณะสำคัญต่อไปนี้

ช่วงอายุ
พัฒนาการของระบบในร่างกาย
กิจกรรมภายใน
ระดับการตระหนักรู้ขณะเรียน
สิ่งสำคัญต่อการเรียนรู้
การเรียนรู้ที่จำเป็น
๐-๗
ระบบย่อยอาหารและการเจริญเติบโตของแขนขาเพื่อสร้างรูปกาย
ความมุ่งมั่นตั้งใจ(willing)           
ไม่รู้ตัว
ความประทับใจในผู้ที่เป็นต้นแบบ
จำเป็นต้องเรียนรู้ว่าโลกนี้ดี
๗-๑๔
ระบบการหายใจและการเต้นของหัวใจเพื่อสร้างพื้นอารมณ์
ความรัก(feeling)
กึ่งฝัน
ความรักในผู้นำ           
จำเป็นต้องเรียนรู้ว่าโลกนี้งดงาม
๑๔-๒๑
ระบบประสาทเพื่อสร้างการคิดเหตุผล
ความคิด(thinking)
รู้ตัว
ความศรัทธาในความถูกต้องของอุดมคติ
จำเป็นต้องเรียนรู้ว่าโลกนี้เป็นจริง

ความรู้สึกของมนุษย์กับพัฒนาการในแต่ละช่วงวัย
ประสบการณ์ที่ทำให้เด็กได้รับความรู้สึกต่างๆในแต่ละช่วงวัยจะเป็นพื้นฐานของพัฒนาการของช่วงกับที่สูงขึ้น
รูดอล์ฟ สไตเนอร์ ได้กล่าวถึงความรู้สึกของมนุษย์ว่าประกอบด้วยด้านต่างๆดังนี้
๑.      ความรู้สึกจากการสัมผัส (sense of touch)
๒.      ความรู้สึกแห่งชีวิต(sense of life)หมายถึงความรู้สึกสุขทุกข์
๓.      ความรู้สึกจากการเคลื่อนไหว(sense of movement)
๔.      ความรู้สึกสมดุลของร่างกาย(sense of balance)
๕.      ความรู้สึกจากการได้กลิ่น(sense of smell)
๖.      ความรู้สึกจากการลิ้มรส(sense of taste)
๗.      ความรู้สึกจากการเห็น(sense of sight)
๘.      ความรู้สึกถึงอุณหภูมิ(sense of temperature)
๙.      ความรู้สึกจากการได้ยิน(sense of hearing)
๑๐. การรู้สึกถึงความหมายของถ้อยคำ(sense of words)
๑๑. การรู้สึกถึงความคิด(sense of thought)
สำหรับช่วงวัยแรกเกิดถึง ๗ ปี ประสบการณ์ที่ทำให้เกิดความรู้สึก ๔ ด้านแรกจะช่วยให้เด็กพัฒนาความรู้สึกที่สัมผัสกับโลกที่เป็นจริงรอบตัวอย่างมั่นใจและเป็นสุข กล่าวคือ
ความรู้สึกจากการสัมผัสจะทำให้เด็กไม่ขลาดกลัว
ความรู้สึกแห่งชีวิตจะทำให้รู้จักความสุข แจ่มใส
ความรู้สึกจากการเคลื่อนไหวจะทำให้เด็กรู้สึกเป็นอิสระ
ความรู้สึกสมดุลของร่างกายจะทำให้เด็กรู้สึกปลอดภัยและสงบภายใน
ความรู้สึก ๔ ด้านดังกล่าวนำไปสู่การพัฒนาความมุ่งมั่นตั้งใจ( wiling)ซึ่งเป็นพัฒนาการพื้นฐานของประถมวัย
ความรู้สึกที่ ๕- ๘ จะช่วยให้เด็กวัย ๗ – ๑๔ ปีละเอียดอ่อนต่อความรู้สึกอันนำไปสู่การพัฒนาการความรู้สึก ( feeling ) ซึ่งเป็นพัฒนาการพื้นฐานของเด็กวัยนี้
ความรู้สึกที่ ๙๑๑ จะช่วยให้คนหนุ่มสาววัย ๑๔๒๑ ปีรู้สึกรับผิดชอบอันนำไปสู่การพัฒนาความคิด( thinking )ซึ่งเป็นพัฒนาการพื้นฐานของวัยนี้

๑.๓ เป้าหมายของการศึกษาวอลดอร์ฟ

การให้การศึกษาคือ การช่วยให้มนุษย์บรรลุศักยภาพสูงสุดที่ตนมีและสามารถกำหนดจุดมุ่งหมายและแนวทางแก่ชีวิตของตนได้อย่างอิสระตามกำลังความสามารถของตน  
การศึกษาเป็นไปเพื่อให้มนุษย์สามารถค้นพบส่วนต่างๆและเข้าใจในชีวิตภายในของตนเอง  เพื่อให้สามารถบรรลุศักยภาพสูงสุดของตน  
ให้การศึกษาเรื่องมนุษย์และความเชื่อมโยงของมนุษย์กับโลกและจักรวาล   การเชื่อมโยงทุกเรื่องกับมนุษย์เป็นการสอนให้รู้จักจุดยืนที่สมดุลของตนในโลก  และไม่ยึดตนเอง(อัตตา)
พัฒนาเด็กให้เป็นมนุษย์ที่มีบุคลิกภาพที่สมดุลกลมกลืนในสามวิถีทางที่ สัมพันธ์กับโลก   และได้ใช้พลังทั้ง ๓ ด้านอย่างพอเหมาะ  ผ่านกิจกรรมทางกาย (ด้านการปฏิบัติ) ทางอารมณ์ความรู้สึก(ด้านศิลปะ) และทางกระบวนการคิด (ด้านสติปัญญา)
กล่าวโดยสรุป การศึกษาวอลดอร์ฟมุ่งหมายที่จะดึงศักยภาพซึ่งแฝงเร้นอยู่ในตัวเด็กแต่ละคนให้แสดงออกมา ไม่ใช่มุ่งจะนำ ข้อมูลความรู้จากภายนอกใส่เข้าไปในเด็กเพื่อการผลิตซ้ำ  หรืออีกนัยหนึ่งก็คือการศึกษาแบบวอลดอร์ฟมุ่งหวังจะพัฒนามนุษย์ให้เป็น
  •         ผู้ซึ่งมีความคิดแยบคาย สดใส มีพลัง และสร้างสรรค์
  •         ผู้ซึ่งมีความรู้สึกในใจเปี่ยมล้นไปด้วยความเมตตา กล้าหาญ ศรัทธาต่อชีวิต และมีจิตใจใฝ่รู้
  •         ผู้มีพลังเจตจำนงแน่วแน่ สามารถบรรลุภารกิจแห่งชีวิตที่ตนเองเป็นผู้เลือกสรรค์

๒. การบริหารและการจัดการเรียน

การศึกษาแบบ วอลดอร์ฟ คือการศึกษาที่มีใช้กันในหลายแห่งทั่วโลก    เป็นกลุ่มการศึกษาเอกชนที่เติบโตเร็วมาก  ไม่มีระบบการบริหารแบบรวมศูนย์   แต่ละแห่งล้วนเป็นอิสระต่อกัน  ขณะเดียวกันก็มีการให้การสนับสนุนกันและกัน ในทรัพยากรต่างๆ เอกสารวิชาการ  การจัดการประชุม
การจัดการของโรงเรียน
โรงเรียนอนุบาลหรือประถม-มัธยมวอลดอร์ฟบริหารและดำเนินงานโดยคณะครู
กลุ่มซึ่งประกอบด้วยครูและผู้ปกครอง รับผิดชอบด้านเศรษฐกิจและกฎหมายของโรงเรียน  โดยอยู่ภายในกรอบกฎหมายที่แน่นอน   รูปแบบโครงสร้างของสถาบันเหล่านี้ขึ้นอยู่กับกลุ่มคนที่มีส่วนร่วม บริบททางวัฒนธรรม และความเป็นไปได้ทางกฎหมายที่เปิดให้
รูปแบบการบริหารตนเองในโรงเรียนวอลดอร์ฟนี้ รวมถึงการมอบหมายภาระหน้าที่ให้แก่กลุ่มย่อยหรือบุคคลตามระยะเวลาอันจำกัดด้วย  การจัดระบบแบบใด ๆ ก็เป็นไปได้ทั้งสิ้นภายในรูปแบบการบริหารตนเองนี้  การให้บทบาทผู้นำ (ทางการศึกษา) ภายในของโรงเรียนอยู่ในมือคน ๆ เดียวเป็นสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง
การทำงานร่วมกัน
ผู้ร่วมงานแต่ละคนจะต้องรู้สึกถึงพันธะที่จะมีส่วนร่วมในการประชุมเกี่ยวกับการศึกษาประจำสัปดาห์  นี่คือส่วนของการนำด้านการศึกษาของโรงเรียน  และรวมถึงงานพื้นฐาน (การศึกษาเกี่ยวกับมนุษย์/การศึกษา) การจัดการปัญหาทางการศึกษา การสังเกตเด็ก ปัญหาการดำเนินงาน ภาระหน้าที่ในการนำและกำหนดทิศทางโรงเรียนร่วมกับคณะกรรมการอื่น ๆ 
การประชุมครูไม่เพียงเป็นที่ซึ่งผู้ร่วมงานได้รับการฝึกอบรมเพิ่มเติมเท่านั้น  หากยังเป็นที่ซึ่งการรับรู้ วินิจฉัย เรียนรู้ และให้แรงกระตุ้นใหม่ ๆ แก่โรงเรียน   ล้วนนำไปสู่สำนึกร่วมกันต่อส่วนรวมอีกด้วย
นอกเหนือจากงานที่ทำด้วยกันในการประชุมครูของโรงเรียนแล้วยังมีการอบรมเพิ่มเติมและการแลกเปลี่ยนกับผู้ร่วมงานอื่น ๆ ทั้งในระดับชาติและนานาชาติ  ฝ่ายการศึกษาของ Goetheanum  และกลุ่มงานในประเทศอื่น ๆ ซึ่งทำงานร่วมกันกับสมาคมแห่งชาติ เป็นผู้รับผิดชอบในเรื่องนี้
ในฝ่ายการศึกษามีหน่วยงานที่รับผิดชอบในการรับรองโรงเรียนว่าเป็นโรงเรียนวอลดอร์ฟ  สิทธิทางกฏหมายที่จะใช้ชื่อนี้จะมีได้หลังจากที่โรงเรียนได้รับการรับรองแล้ว   หน้าที่นี้อาจมอบหมายให้คณะกรรมการในประเทศทำก็ได้  โรงเรียนวอลดอร์ฟที่ได้รับการรับรองมีรายชื่ออยู่ในทำเนียบโรงเรียนวอลดอร์ฟนานาชาติ  ซึ่งจัดพิมพ์โดยสมาคมโรงเรียนวอลดอร์ฟในเยอรมนีสภาโรงเรียนวอลดอร์ฟ/สไตเนอร์นานาชาติ (Hague Circle)  ให้ความเห็นชอบ

๒.๑ วิธีการจัดการศึกษาและบทบาทของครู

การศึกษาวอลดอร์ฟให้การศึกษาแก่เด็กแบบองค์รวม และครอบคลุมกิจกรรมทั้งสามด้าน Hand(Willing)  , Head(Thinking) และHeart (Feeling)  สร้างความสมดุลย์ระหว่างการฝึกฝนด้านการปฏิบัติ  ศิลปะ และวิชาการ
ครูวอลดอร์ฟจะทำความเข้าใจเด็กหรือผู้เรียน ในฐานะ กาย(Body) , จิต(Soul)  และจิตวิญญาณ(Spirit)
การจัดแผนการเรียนการสอน เป็นไปโดยสอดคล้องกับพัฒนาการของสำนึกตามช่วงอายุ ซึ่งในมุมมองของการศึกษาวอลดอร์ฟนั้น พัฒนาการของสำนึกซึ่งเด็กก้าวผ่านในแต่ละช่วงอายุ จะใกล้เคียงอย่างยิ่งกับขั้นตอนแห่งสภาวะสำนึกของมนุษย์ที่วิวัฒน์จากยุคโบราณมาจนถึงยุคปัจจุบัน  โดยเรียกกระบวนการนี้ว่า วิวัฒนาการแห่งสภาวะสำนึก
ครูมีหน้าที่ทำให้เด็กรักการเรียนรู้  โดยใช้ศิลปะและกิจกรรม เพื่อส่งเสริมการเรียน  และช่วยสร้างแรงกระตุ้นภายในตัวเด็กให้รักการเรียน ไม่ใช่เพื่อการแข่งขันหรือคะแนน
เด็กบางกลุ่มหรือสถานการณ์บางอย่างอาจเรียกร้องวิธีแก้ไขที่แตกต่างกันไป และคณะครูจะทำงานร่วมกันเพื่อพยายามคลี่คลายสถานการณ์เหล่านั้น

         ๒.๑.๑ การจัดการศึกษา

การศึกษาต้องพัฒนามนุษย์ไปสู่ความเป็นมนุษย์ที่สมบรูณ์ด้วยการพัฒนาให้มนุษย์เข้าถึงสัจธรรม เด็กวัยแรกเกิดถึง ๗ ปีเรียนรู้ด้วยการกระทำ ดังนั้นการสอนต้องเน้นให้เด็กมุ่งมั่นตั้งใจกับการกระทำความดี
เด็กวัย ๗๑๔ ปี เรียนรู้จากความประทับใจ ดังนั้นการสอนต้องเน้นให้เด็กรู้สึกถึงความงาม เด็กวัยหนุ่มสาววัย ๑๔๒๑ ปีเรียนรู้จากการคิด ดังนั้นการสอนต้องเน้นให้เด็กคิด จนเกิดปัญญา เห็นสัจธรรมและความจริงในโลก
แม้ว่าพัฒนาการในแต่ละช่วงวัยจะมีลักษณะเฉพาะแตกต่างกันแต่การศึกษาทุกระดับต้องพัฒนาร่างกายและจิตวิญญาณควบคู่กันโดยให้เกิดความสมดุลในการเรียนรู้ด้วยกาย(ลงมือกระทำ) หัวใจ (ความรู้สึก ความประทับใจ) และสมอง (ความคิด )
เนื่องจากเด็กวัยแรกเกิดถึง ๗ ปี มีลักษณะที่เรียนรู้พร้อมกันไปทั้งตัวโดยการเลียนแบบที่มิใช่เฉพาะท่าทางภายนอก แต่เลียนแบบที่ลึกลงไปในจิตวิญญาณโดยที่เด็กเองไม่รู้ตัว ในวัยนี้ความดีงามของผู้ใหญ่รอบข้างจะซึมเข้าไปในตัวเองช่วยให้เด็กพัฒนาความมุ่งมั่นในสิ่งดีงาม ดังนั้นการศึกษาสำหรับเด็กปฐมวัยจึงยึดหลักต่อไปนี้
๑. การทำซ้ำ ( repetition) เด็กควรได้มีโอกาสทำสิ่งต่างๆซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนการกระทำนั้นซึมลึกลงไปในกายและจิตจนเป็นนิสัย
๒. จังหวะที่สม่ำเสมอ( rhythm )กิจกรรมในโรงเรียนต้องเป็นไปตามจังหวะสม่ำเสมอเหมือนลมหายใจเข้า – ออกยามจิตใจสงบและผ่อนคลาย เด็กจะได้รู้สึกมั่นคงและปลอดภัย
๓. ความเคารพและการน้อมรับคุณค่าของทุกสิ่ง กิจกรรมและสื่อธรรมชาติที่จัดให้เด็กเพื่อให้เด็กเคารพและน้อมรับคุณค่าของสิ่งต่างๆที่เกื้อหนุนชีวิตมนุษย์ ความเคารพและน้อมรับคุณค่าของสิ่งต่างๆจะเป็นแก่นของจริยธรรมตลอดชีวิตของเด็ก

         ๒.๑.๒ บทบาทครู

ครูอนุบาลตามแนวคิดของวอลดอร์ฟนอกจากเป็นแบบอย่างของความมุ่งมั่นตั้งใจให้แก่เด็กแล้วยังมีบทบาทสำคัญอื่นๆได้แก่ การสังเกตเด็กขณะที่เด็กเรียน ไตร่ตรองความเจริญก้าวหน้าและปัญหาของเด็กหลังสอนและก่อนสอนการทำงานกับพ่อแม่เพื่อให้เกิดความเข้าใจกันและกันในฐานะผู้ร่วมกรุยทางชีวิตให้แก่เด็ก การปฏิบัติสมาธิ การทำกิจกรรมศิลปวัฒนธรรมและกิจกรรมอื่นๆเพื่อพัฒนาตนเองในแต่ละวัน ครูอนุบาลเป็นบุคคลสำคัญที่สุดในชีวิตของเด็กขณะอยู่ที่โรงเรียน ความคิด ความรู้สึกและความมุ่งมั่นตั้งใจของครูถ่ายทอดสู่เด็กโดยตรงด้วยพลังทั้งหมดในตัวครู ไม่ใช่เพียงผู้อำนวยการ ความสะดวกในการเรียนรู้ด้วยตนเองของเด็กครูมิใช่เป็นผู้เรียกร้องหรือสร้างกฎเกณฑ์การกระทำของเด็กแต่ครูเป็นผู้ (ส่งพลังความมุ่งมั่นที่มีในตัวทั้งหมดให้แก่เด็กโดยการเป็นแบบอย่างของบุคคลที่พัฒนาความเป็นมนุษย์ในตัวเองตลอดเวลาพลังความมุ่งมั่นตั้งใจของครูจะเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนากายและจิตวิญญาณของเด็กทั้งในวัยเด็กและวัยผู้ใหญ่

๒.๒ การจัดบรรยากาศ

เนื่องจากเด็กวัยแรกเกิดถึง ๗ ปี เป็นวัยที่เรียนรู้จากการเลียนแบบซึ่งการเลียนแบบนี้มิใช่เป็นการเลียนแบบอย่างผิวเผินเพียงแต่ท่าทางหรือคำพูดแต่เป็นการเลียนแบบลึกลงไปถึงอารมณ์ ความรู้สึกนึกคิด สิ่งที่เด็กเลียนแบบไปในช่วงนี้ฝังลึกลงไปในเด็กและจะหล่อหลอมเด็กทั้งกายและจิตวิญญาณ การเรียนรู้ของเด็กเป็นการเรียนผ่านจิตใต้สำนึกเพราะฉะนั้นสิ่งที่เด็กเรียนรู้ไปจะส่งผลต่อสุขภาพกาย กริยาท่าทาง อารมณ์ ความรู้สึกนึกคิด โดยไม่รู้ตัวและจะฝังแน่นไปจนโตการจัดการศึกษาเพื่อเด็กต้องคัดเลือกสิ่งที่ดีงามให้แก่เด็กและปกป้องเด็กจากสิ่งที่จะทำลายความบริสุทธิ์ไร้เดียงสาซึ่งเป็นความดีงามที่ติดตัวเด็กมา
ด้วยแนวคิดดังกล่าวการจัดบรรยากาศภายในห้องเรียน อาคารเรียนและบริเวณโรงเรียนจึงเป็นองค์ประกอบสำคัญของการศึกษาวอลดอร์ฟ ความงดงามของธรรมชาติจะปรากฏอยู่ทั้งกลางแจ้งและภายในอาคาร ภาพศิลปะ งานปฏิมากรรมกลิ่นหอมของธรรมชาติเป็นส่วนที่ทำให้บรรยากาศสงบและอ่อนโยน
ทฤษฎีเกี่ยวกับสีของเกอเธต์และสถาปัตยกรรมตามแนว มนุษย์ปรัซญา เป็นพื้นฐานในการจัดบรรยากาศการเรียนรู้สำหรับเด็กในศาสตร์ด้านการศึกษา สีที่เหมาะสมกับเด็กแรกเกิดถึง ๗ ปีคือ สีส้มอมชมพูเพราะเป็นสีที่นุ่มนวลทำให้เด็กรู้สึกถึงความรักความอบอุ่นและช่วยให้ร่างกายสดชื่นแจ่มใส ไม่เคร่งเครียดอ่อนล้า ในขณะเดียวกันก็ช่วยให้เด็กสงบมีสมาธิต่อจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ของตน ไม่ตื่นเต้นลุกลี้ลุกลนจนไม่สามารถอยู่นิ่งได้
แสงที่พอเหมาะกับเด็กอนุบาล คือ แสงธรรมชาติที่ไม่จ้าเกินไปหรือมืดทึมเกินไป แสงที่จ้าเกินไปทำให้เกิดความร้อนและเด็กจะขาดสมาธิ ม่านผ้าจะช่วยกรองแสงให้อยู่ในระดับที่พอเหมาะ ถ้าห้องมืดเกินไปควรใช้แสงสว่างเช่นเดียวกับแสงอาทิตย์โดยเปิดไฟหรือหรือตั้งโคมไฟในบางจุดที่จำเป็น ไม่จำเป็นต้องเปิดไฟทั่วทั้งห้องการทำกิจกรรมในห้องที่มีแสงสว่างธรรมชาติช่วยให้เด็กปรับตัวให้เรียนรู้โดยไม่ต้องอาศัยสิ่งเร้าเกินจำเป็น
เสียงเป็นสิ่งเร้าที่เด็กไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้เมื่อเด็กเห็นแสงหรือสีที่รุนแรงเกินไปเด็กสามารถหลับตาหรือหันไปทางอื่นได้แต่เด็กจะไม่สามารถหลีกเลี่ยงเสียงดังหรือเร่งเร้าเกินไปได้ เด็กอาจจะยกมือขึ้นอุดหูแต่ก็ทำได้ชั่วขณะดังนั้นเสียงที่เป็นโทษเหล่านั้นก็จะเข้าสู่โสตประสาทและจิตใจของเด็กโดยเด็กไม่อาจปฏิเสธได้ทำให้เด็กขาดสมาธิหงุดหงิดโดยไม่รู้สาเหตุ เสียงที่ไพเราะอ่อนโยนและดังพอเหมาะช่วยให้จิตใจอ่อนโยนด้วยเหตุนี้เสียงธรรมชาติ เช่น เสียงนกร้อง ลมพัด ฝนตก เสียงดนตรีและเพลงที่ไพเราะอ่อนโยนและความเงียบเป็นส่วนสำคัญในการจัดบรรยากาศเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ผ่านทั้งจิตใต้สำนึกของเด็กตลอดทั้งวัน

๒.๓ เนื้อหาสาระ

ในระดับปฐมวัยจะไม่มีการแบ่งเนื้อหาสาระเป็นวิชาแต่จะเป็นการจัดเนื้อหาสาระในรูปของประสบการณ์ในการเล่นและในการดำเนินชีวิตถ้าพิจารณาเนื้อหาสาระในแง่วิชาต่างๆก็จะพบว่าเนื้อหาสาระเหล่านั้นบูรณาการกันอย่างแน่นสนิทในกิจกรรมต่างๆ อย่างไรก็ตามการอธิบายเนื้อหาสาระเป็นวิชาอาจทำได้โดยสังเขปดังนี้

         ๒.๓.๑ ภาษา

ในช่วงปฐมวัย ภาษาพูดเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดเพราะภาษาพูดสามารถสื่อเข้าไปถึงดวงจิตของเด็ก ครูทุกคนต้องผ่านการฝึกฝนในหลักสูตรฝึกหัดครูให้สามารถพูดได้ชัดเจน มีศิลปะในการใช้ภาษาได้อย่างไพเราะ ลึกซึ้งเด็กจะได้คุ้นเคยและสั่งสมความรู้สึกซาบซึ้งในความงดงามของรูปแบบและจังหวะของภาษา ครูใช้นิทานและคำประพันธ์เพื่อให้เด็กได้สัมผัสอารมณ์ความรู้สึกที่สามารถสื่อจากครูผ่านภาษาได้ เทพนิยายเป็นสื่อที่ครูใช้ในการเล่านิทานเพราะเทพนิยายแฝงภูมิปัญญาและความจริงทางจิตใจที่เด็กเห็นภาพได้ ครูจะเล่านิทานปากเปล่าโดยอาจเล่นนิ้วมือหรือหุ่นง่ายๆประกอบและจะไม่ใช้สื่อมากจนจำกัดจินตนาการของเด็ก ภาษาพูดของครูจะกระตุ้นให้เด็กๆสร้างจินตนาการภายในใจของแต่ละคน ทุกสิ่งมีชีวิตจิตใจพูดกันได้ ครูจะไม่เปิดเทปนิทานหรือเพลงเพราะภาษาจากสื่อเหล่านั้นเป็นภาษาที่ไม่มีชีวิตและไม่สามารถส่งพลังสั่นสะเทือนเข้าไปกระตุ้นการตอบสนองที่ละเอียดอ่อนภายในกายของ เมื่อเด็กได้ยินภาษาพูดนั้นได้เด็กจะซึมซับเรื่องราวของเทพนิยายผ่านภาษาที่ไพเราะ จังหวะการเล่าที่นุ่มนวลความประทับใจในสิ่งที่ดีงามที่ได้ยินได้ฟังจะฝังลึกในดวงจิตของเด็กไปจนโต นอกจากการเล่านิทาน ครูจะจัดแสดงละครหุ่นเป็นครั้งคราว บางครั้งเด็กก็ร่วมเล่านิทานหรือแสดงละครหุ่นกับครู
สำหรับภาษาเขียนยังไม่เน้นในวัยนี้เนื่องจากครูมุ่งพัฒนาให้เด็กใช้จินตนาการภาพในใจให้ชัดเจน อย่างไรก็ตาม ครูก็เปิดโอกาสให้เด็กได้วาดภาพและ/หรือขีดเขียนอย่างอิสระเพื่อถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิดให้ปรากฏเป็นสัญลักษณ์ ๒ มิติ ผลงานของเด็กมีทั้งที่เป็นภาพอย่างเดียวและภาพกับข้อความ เช่นชื่อของเด็กเด็กเรียนรู้ภาษาเขียนจากสิ่งแวดล้อมรอบตัวและในชีวิตประจำวนโดยเฉพาะจากการเลียนแบบพฤติกรรมการอ่านเขียนในชีวิตจริงของผู้ปกครองและครู

         ๒.๓.๒ คณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์

คณิตศาสตร์สำหรับเด็กปฐมวัยคือ ประสบการณ์ที่ได้เห็นว่าทุกหนทุกแห่งในจักรวาล ในมนุษย์ ในธรรมชาติ มีคณิต-ศาสตร์อยู่ คณิตศาสตร์สัมพันธ์และเชื่อมโยงกับทุกสิ่งและมิได้มีเนื้อหาเฉพาะส่วนที่เป็นแนวคิดแต่มีส่วนที่เป็นความรู้สึกควบคู่กันไปด้วย ของเล่นที่เป็นวัสดุธรรมชาติ เช่น แท่งไม้ ก้อนหิน กรวดผ้า เชือกที่ครูคัดเลือกและจัดทำเป็นของเล่นให้แก่เด็กนอกจากแสดงให้เห็นความงดงามและน่ามหัศจรรย์ของธรรมชาติแล้วยังให้แนวคิดพื้นฐานทางเรขาคณิตเกี่ยวกับลักษณะต่างๆของวัตถุและรูปเรขาคณิตในสิ่งรอบตัวเมื่อเด็กจัดเก็บของเล่นเหล่านั้น เขาจะได้ฝึกทักษะการจำแนกและจัดกลุ่มกิจกรรมประจำวันตามหลักการทำซ้ำ ตามจังหวะเวลาที่สม่ำเสมอและการสังเกตและน้อมรับธรรมชาติจะทำให้เด็กได้เรียนรู้ทักษะวิทยาศาสตร์จากการสังเกต และทำนายความเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติรอบตัวทุกๆวันตลอดเวลา
นอกจากนี้เด็กจะได้เรียนรู้แนวคิดด้านเวลา และทักษะการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของสิ่งต่างๆ ทั้งในตัวและในธรรมชาติการทำสวนเก็บเกี่ยว ทำและเสิร์ฟอาหารจะช่วยให้เด็กได้เรียนรู้ทักษะการวัดและนับ รวมทั้งแนวคิดพื้นฐานด้านการวัดและด้านจำนวน เด็กจะได้เรียนรู้ทักษะด้านจัดกระทำข้อมูลสื่อความหมายข้อมูลและลงความเห็นข้อมูลจากการเล่าเหตุการณ์ตามลำดับและการอภิปรายความเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติทั้งที่เกิดขึ้นเองและที่เขามีส่วนทำให้เกิดการเก็บเกี่ยว การซื้อขายแลกเปลี่ยนผลผลิตจากแปลงพืชผักกันเองภายในโรงเรียนและชุมชนช่วยให้เด็กได้เรียนรู้แนวคิดพื้นฐานด้านเวลาและเงิน การที่เด็กจะต้องประดิษฐ์และออกแบบสิ่งของทุกครั้งที่เขาเล่น

         ๒.๓.๓ ศิลป : การระบายสี การปั้นและการวาด

สีมีความสำพันธ์กับความรู้สึก ดังนั้นสีจึงเป็นสื่อสำหรับประสบการณ์ของดวงจิต การมองสี คือ การมองเข้าไปในดวงจิตดังนั้นครูจะให้เด็กใช้สีน้ำและสีขี้ผึ้งในการระบายสี และใช้ขี้ผึ้งสีในการปั้น ศิลปะในวัยนี้เพื่อให้เด็กมีประสบการณ์เกี่ยวกับสีเช่น เมื่อสีเหลืองติดอยู่กับสีฟ้าจะรู้สึกอย่างไร เมื่อสีเขียวถูกล้อมด้วยสีแดง สิ่งที่เกิดขึ้นย่อมต่างกันเมื่อสีแดงถูกล้อมด้วยสีเขียวเมื่อสีต่างๆกลมกลืนกัน ความงดงามจะเกิดขึ้น เช่น เมื่อสีแดงและสีเหลืองเข้าไป สีฟ้า และสีม่วงจะพลันลดลง เด็กปฐมวัยสามารถรู้สึกถึงคุณสมบัติของสีแท้ๆได้โดยไม่ต้องโยงสีกับวัตถุที่มันอยู่ การใช้สีเป็นการจงใจให้เกิดจินตนาการและการพัฒนาการมองให้เข้าไปถึงความรู้สึก ครูจะส่งเสริมให้เด็กระบายสี ปั้นขี้ผึ้งและมีความสุขกับสีโดยไม่จำเป็นต้องวาดหรือปั้นเลียนของจริง

         ๒.๓.๔ ดนตรี

การสอนดนตรีในโรงเรียนอนุบาลวอลดอร์ฟ มิได้เน้นที่ความรู้ความสามารถทางดนตรีเป็นหลัก แต่เน้นที่การใช้ดนตรี เพื่อพัฒนาการและจิตของเด็กให้สมดุลกลมกลืน เสียงมีความสัมพันธ์กับความรู้สึกและเป็นประสบการณ์ของดวงจิต เพราะการฟังเสียง คือการฟังดวงจิต เพลงที่เหมาะสำหรับเด็กอนุบาลเป็นเพลงทำนองเพนทาโทนิค ซึ่งเป็นเสียงที่นุ่มนวลฟังแล้วเบาสบาย สื่ออารมณ์ความรู้สึกของเด็กได้ดี เด็กสามารถร้องได้ง่ายและรู้สึกสงบ เพลงพื้นบ้านในแทบทุกวัฒนธรรมเป็นทำนองเพนทาโทนิค ซึ่งตามทฤษฎีของรูดอร์ฟ สไตเนอร์ถือว่าเป็นเสียงที่กลมกลืนกับธรรมชาติ ทำให้มนุษย์รู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับจักรวาลและจิตวิญาณระดับสูงของตน ดังนั้นเพลงที่ครูใช้ในกิจกรรมประจำวันตลอดทั้งวันมักเป็นเพลงเพนทาโทนิค อย่างไรก็ตามครูก็ใช้เพลงอื่นๆด้วย เพื่อสร้างความเชื่อมโยงทางดนตรีกับกิจกรรมที่บ้าน และโลกภายนอก
เพลงที่ใช้ส่วนใหญ่อยู่ในรูปของการร้อง โดยครูร้องด้วยเทคนิคของศรีษะ(head tone) ซึ่งช่วยทำให้เด็กสงบ เครื่องดนตรีที่ครูใช้ได้แก่ pentatonic harp,pentatonic recorder เครื่องดนตรีที่เด็กใช้มักเป็นเครื่องดนตรีที่สามารถเลียนเสียงธรรมชาติรอบตัวได้ เช่น
finger cymbal สำหรับเสียงนกหัวขวาน
glockenspiel สำหรับเสียงนกไนติงเกล
couckoo’s สำหรับเสียงนก cuckoo
การเคลื่อนไหว : ยูริธมี
ยูริธมีเป็นศิลปะการเคลื่อนไหวที่รูดอล์ฟ สไตเนอร์ได้พัฒนาขึ้นเป็นศิลปะการเคลื่อนไหวร่างกายที่แสดงให้เห็นกฎเกณฑ์ และโครงสร้างภายในของภาษาพูดและดนตรี ยูริธมีจึงมีอีกชื่อว่าเสียงพูดหรือดนตรีที่มองเห็นได้ การฝึกยูริธมีช่วยจัดระเบียบ และความกลมกลืนทั้งกายและจิตระดับต่างๆ ยูริธมีสำหรับเด็กปฐมวัยมักเป็นคำกลอนที่ผูกเป็นนิทานหรือเรื่องเล่าสั้นๆที่ให้เด็กทำท่าประกอบ ท่าทางที่ออกแบบมานั้นจะมีความสมดุลเปรียบเหมือนกับมีท่าที่เป็นลมหายใจเข้าและลมหายใจออก การเรียนยูริธมีจะทำสัปดาห์ละ ๑ ครั้งโดยมีครูพิเศษที่ผ่านการฝึกหัดมาโดยเฉพาะเป็นผู้สอน

         ๒.๓.๕ งานปฎิบัติหัตถกรรมและงานทำสวน

งานปฏิบัติทำให้หลักสูตรวอลดอร์ฟมีความสมดุลระหว่างวิชาที่ใช้พลังสมองและวิชาที่ต้องใช้มือ แขนและขา ตามทฤษฎีพัฒนาการของรูดอล์ฟ สไตเนอร์ เด็กแรกเกิดถึง ๗ ปี จะพัฒนาระบบประสาทผ่านการเคลื่อนไหวร่างกาย มือ แขน และขา เด็กจะต้องมีประสบการณ์ที่ได้รับความรู้สึก ๔ ด้านแรกคือ ความรู้สึกจากการสัมผัส ความรู้สึกแห่งชีวิตความรู้สึกจากการเคลื่อนไหวและความสมดุลของร่างกายมากพอเพื่อให้มีพื้นฐานที่ดีสำหรับพัฒนาการช่วงต่อๆไปที่อาศัยความรู้สึกที่เหลืออีกแปดด้าน
การที่บางคนต้องเคลื่อนไหว เช่น เดินไปมาขณะกำลังคิดแสดงว่าร่างกายช่วยการทำงานของสมองเมื่อเด้กใช้มือสร้างหรือประดิษฐ์ของเล่นเขาจะได้ฝึกสมาธิ ความวิริยะอุตสาหะ ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์และความรู้สึกชื่นชมในสิ่งที่ตนสร้างขึ้นเด็กจะตระหนักถึงความยากลำบากในการคิดและการทำงานซึ่งจะช่วยให้เห็นคุณค่าทุกคนและทุกสิ่ง
การทำสวนช่วยให้เด็กได้สัมพันธ์กับพื้นโลกและเรียนรู้คุณค่าและความยิ่งใหญ่ของแผ่นดิน

๒.๔ กิจกรรมประจำวัน

กิจกรรมประจำวันของแต่ละโรงเรียนย่อมแตกต่างกันไปตามสภาพและวัฒนธรรมของท้องถิ่นรวมทั้งการประยุกต์ใช้แนวคิดทฤษฎีของครู อย่างไรก็ตามโดยภาพรวม กิจกรรมในแต่ละวันของเด็กจะเรียบง่าย โรงเรียนอนุบาลเปรียบเหมือนครอบครัวใหญ่ ครูเปรียบเหมือนแม่ที่ดูแลบ้านอย่างมีความสุข อุปกรณ์การสอนที่เตรียมไว้ให้เด็กเล่นจะเป็นของเรียบง่ายเช่น แท่งไม้ ก้อนหิน กรวด เปลือกหอย เมล็ดพืช ด้าย และไหมสีต่างๆพร้อมไม้สำหรับถัก กรอบไม้สำหรับทอผ้า สะดึงสำหรับปักผ้า ตะกร้าเย็บผ้า ผ้าเส้นใยธรรมชาติสีและขนาดต่างๆ โต๊ะและอุปกรณ์ทำงานไม้ อุปกรณ์ทำสวน ครูจะเตรียมอุปกรณ์ต่างๆโดยการวางแผนอย่างรอบคอบแต่การจัดวางอุปกรณ์เหล่านี้จะดูเป็นธรรมชาติ งดงามและกลมกลืนความเป็นอยู่ในชีวิตจริง
ครูจะกำหนดกิจกรรมแต่ละช่วงโดยคำนึงถึงหลักการ ๓ ประการคือการทำซ้ำ จังหวะเวลาที่สม่ำเสมอ ความเคารพและน้อมรับคุณค่าของทุกสิ่ง ดังนั้นกิจกรรมประจำวันของโรงเรียนอนุบาลแต่ละแห่งก็จะยืดหยุ่นไปตามสภาพชีวิตในชุมชนนั้นไม่จำเป็นต้องเป็นแบบแผนตายตัว

๓. หลักสูตร

หลักสูตรโรงเรียน วอลดอร์ฟ คำนึงถึงภาพรวมทั้งชีวิตของมนุษย์ตอบสนองต่อธรรมชาติในแต่ละช่วงวัยของเด็ก บำรุงเลี้ยงจินตนาการของเด็กท่ามกลางสิ่งแวดล้อมที่ดีในโรงเรียน ดร.สไตเนอร์คิดว่าโรงเรียนต้องเอาใจใส่ต่อความต้องการของเด็กมากว่าความ ต้องการหรือเป้าหมายที่รัฐบาลวางไว้หรือแรงกระตุ้นทางเศรษฐกิจ โรงเรียน วอลดอร์ฟ ไม่ใช่สถานที่ผลิตคนเพื่อป้อนตลาดแรงงาน แต่เป็นสถานที่สนับสนุนความคิดสร้างสรรค์และมีอิสระในการสอน ทำนุบำรุงลักษณะปัจเจกของเด็กแต่ละคนให้เด็กมีโอกาสได้พัฒนาตนเอง สามารถก้าวออกไปเผชิญโลกด้วยความมั่นใจ ผ่านการศึกษาที่สมดุลมีบูรณาการในทุกด้านของชีวิต
ครู วอลดอร์ฟ มีหน้าที่ทำให้เด็กรักการเรียนรู้   และครูจะใช้ศิลปะและกิจกรรม เพื่อส่งเสริมการเรียนวิชาการ  และช่วยสร้างแรงกระตุ้นภายในตัวเด็กให้รักการเรียนรู้  ไม่ใช่การทำไปเพื่อการแข่งขันหรือเรียนเพื่อสอบเอาคะแนน
นอกจากนั้นการเรียนการสอนแบบ วอลดอร์ฟ ยังมีลักษณะแยกตามช่วงชั้นเรียนดังนี้
เกรด ๑-๓
สอนตัวอักษรผ่านรูปภาพการเขียน อ่าน สะกด บทกลอนและละคร เล่านิทานและตำนาน
สอนตัวเลข การคำนวณขั้นพื้นฐาน การบวก ลบ คูณและหาร เล่าเรื่องราวของธรรมชาติ การสร้างบ้านและการทำการเกษตร
เกรด ๔-๖
เขียน อ่าน สะกด แกรมม่า บทกลอน และละคร ประวัติศาสตร์ยุคโบราณ เรียนทบทวนบวกลบคูณหาร ร้อยละ และเรขาคณิต ภูมิศาสตร์ สิ่งมีชีวิต พืชพรรณ ฟิสิกส์พื้นฐาน
เกรด ๗-๘
การเขียนอย่างสร้างสรรค์ การอ่าน สะกด Grammar บทกลอน ละคร ประวัติศาสตร์ยุคกลาง ยุคเรเนอซอง การค้นพบโลกใหม่ ชีววิทยา ภุมิศาสตร์  ฟิสิกซ์ เคมีพื้นฐาน อวกาศ
วิชาพิเศษ
งานฝีมือ ถักนิตติ้ง โครเชต์ เลื่อย ครอสติช  งานทอ การทำของเล่น งานไม้ ดนตรี การร้องเพลง Flute  Recorder เครื่องสาย เครื่องเป่า เครื่องเคาะจังหวะ ภาษาต่างประเทศ ศิลปะ สีน้ำแบบเปียกบนเปียก (Wet on Wet)  , Form drawing  งานปั้นดินและขี้ผึ้ง  การเขียนทัศนียภาพ ยูริธมี่ ยิมนาสติก เกมที่เล่นเป็นกลุ่ม

๔. กิจกรรมการเรียนการสอน

ส่วนใหญ่แล้วโรงเรียนแนววอลดอร์ฟมักจะเน้นไปที่การเรียนรู้แบบธรรมชาติ ไม่มีห้องเรียน ไม่มีกระดานดำ แต่จะมีมุมต่างๆ ให้เด็กได้เรียนรู้ ได้เป็นอิสระที่จะคิดและสร้างสรรค์ หรือหากเด็กๆ ต้องการเล่นตุ๊กตา เล่นรถ ในห้องก็จะมีข้าวของที่ทำจากธรรมชาติให้ประดิษฐ์ดัดแปลงเล่นกัน เช่น ผ้าหลากสี ท่อนไม้ เปลือกไม้ ลูกสน เป็นต้น ทุกอย่างจะถูกกำหนดให้เป็นได้สารพัดตามแต่ใจเด็กๆ จะคิดฝันให้ออกมาเป็นอะไร หรือกำลังเล่นอะไร เช่น การวาดรูปด้วยสีน้ำ ปั้นดินเหนียว ปลูกผัก ปลูกต้นไม้ ทำอาหาร งานฝีมือ ล้างจาน เป็นต้น

๔.๑ กิจกรรมการเรียนการสอน

กิจกรรมที่อยู่ในโรงเรียนแนวการสอนวอลดอร์ฟเหล่านี้จะทำให้เด็กเห็นกระบวนการที่ต่อเนื่อง ซึ่งจะช่วยให้เด็กได้เข้าใจแนวทางพื้นฐานในการปรับตัวเข้ากับชีวิต และกระตุ้นความร่วมมือของเด็ก การเรียนรู้ทุกอย่างจึงต้องเป็นไปอย่างมีชีวิตชีวาเหมือนกับเป็นประสบการณ์จริง ได้สนใจหลายๆ ด้าน เด็กผู้หญิงเด็กผู้ชายสามารถได้ทำทุกอย่าง ซึ่งจะช่วยเสริมความมั่นใจให้กับเด็ก
ครูผู้ดูแลต้องใส่ใจในรายละเอียด เพราะกิจกรรมแต่ละตัว เด็กอาจมีวิธีการของเขาเอง ครูไม่สามารถปิดกั้นว่าเขาต้องทำตาม ซึ่งหากทำได้แบบนี้จะส่งผลให้เด็กได้รู้จักคิดพลิกแพลง ยืดหยุ่นเข้ากับสถานการณ์ทั้งในเชิงความคิด และวิธีการมองปัญหา
เด็กๆ ของโรงเรียนวอลดอร์ฟมักจะได้ลงมือทำกิจกรรมมากที่สุดเพราะเป็นวิธีเรียนรู้อย่างเป็นรูปธรรม ดีกว่าที่ครูจะมาพูดปากเปล่า เมื่อลงมือปฏิบัติแล้วจึงค่อยมาสรุปเป็นแนวคิด เช่น ให้ลงมือทำขนมปังเอง เด็กทุกคนจะเห็นกระบวนการตั้งแต่แรก ที่มาที่ไปว่าแป้งมาจากไหน เริ่มจากข้าวเปลือก ได้สีเมล็ดข้าวเองด้วยเครื่องสีข้าว ได้โม่ข้าวด้วยเครื่องโม่ พอเป็นแป้งแล้วก็นำไปนวด นำไปอบเป็นขนมปัง แต่ละขั้นตอนสะท้อนให้เห็นความละเอียดอ่อนของจิตใจมากกว่าที่จะใช้วิธีพูดสอน
การได้ทำทุกอย่างด้วยตัวเอง จะเป็นการสร้างความอดทนและปลูกฝังให้เด็กสำนึกในบุญคุณต่อสิ่งที่ได้รับจากธรรมชาติและมนุษย์ แทนที่จะบริโภคอย่างฉาบฉวย ก็จะเห็นคุณค่าของการสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ
การเรียนการสอนในแต่ละช่วงชั้น ของการศึกษาวอลดอร์ฟ

         ๔.๑.๑ ระดับปฐมวัย

-เด็กเล็กเรียนรู้ผ่านแบบอย่างและการเลียนแบบเป็นหลัก  ให้ความสำคัญกับการเคลื่อนไหว ท่วงทำนอง เทพนิยาย และภาษาพูด
-กิจวัตรประจำวันของเด็กเล็กก่อนวัยเรียนและอนุบาลได้แก่ การเล่นอิสระ การเคลื่อนไหว การนั่งล้อมวงฟังนิทาน และหัตถกรรมหรือกิจกรรมทางศิลปะ (เช่นการระบายสีน้ำ ปั้นขี้ผึ้ง ระบายสีด้วยสีเทียนแท่ง อบขนมปัง และอื่นๆ )
-การให้เด็กเพ่งความสนใจในการฝึกทักษะทางปัญญา เช่น การอ่าน การเขียน และคณิตศาสตร์นั้นไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพของเด็กวัยนี้ ควรรอจนร่างกายของเด็กมีความสมบูรณ์เติบโตเต็มที่เพื่อให้พลังแห่งการเจริญเติบโตมีอิสระจากงานเชิงความคิดทางปัญญา
-สิ่งแวดล้อมและบรรยากาศจะมีความเป็นบ้าน ซึ่งช่วยส่งเสริมการเล่นตามจินตนาการอย่างมีอิสระ และการทำกิจกรรมทางศิลปะต่าง ๆ
-มีการแสดงเชิดหุ่น การเดินท่ามกลางธรรมชาติ และการเฉลิมฉลองเทศกาลต่างๆ ตามฤดูกาลที่เกิดขึ้นตลอดปี

         ๔.๑.๒ ระดับประถม

(ตั้งแต่เกรด ๑ ถึง ๘ หรือ ประถม ๑ จนถึงมัธยม ๒)
-เด็กที่เคยผ่านวัยอนุบาลในการศึกษาวอลดอร์ฟมาแล้ว จะเข้าสู่ชั้นประถม โดยมีประสบการณ์ต่อธรรมชาติและมนุษย์ชาติด้วยความรักและเคารพ
-เด็กประถมจะเรียนรู้ ด้วยภาพที่มีชีวิต  เนื้อหาสาระได้รับการถ่ายทอดผ่านความรู้สึก และประสบการณ์ทางประสาทสัมผัสรูปแบบต่าง ๆ และด้วยวิธีการหลากหลาย โดยวิธีนี้ประสบการณ์ต่อโลกของเด็กจึงมีหลากหลายมิติ
-เด็ก ๆ ได้รับการพัฒนาไปตามระดับชั้นต่าง  ๆ อย่างเป็นธรรมชาติ ไม่เน้นการให้คะแนนตามระดับสิ่งที่รู้ แต่จุดเน้นคือ การให้เด็กได้มีประสบการณ์ต่อความมหัศจรรย์ของโลก พัฒนาความชื่นชมต่อความสามารถที่มีอยู่ในตัวของแต่ละคน ฝึกฝนทักษะ และความเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนในห้องเรียน
-ครูประจำชั้นคนเดิมจะร่วมเดินทางกับเด็กเป็นเวลารวม ๘ ปี ไป ตั้งแต่เกรดหนึ่งจนกระทั่งเกรดแปด โดยครูประจำชั้นจะเป็นผู้สอนใน “ คาบวิชาหลัก “ ซึ่งได้แก่วิชา คณิตศาสตร์ ประวัติศาสตร์ วิทยาศาสตร์และ ภาษา
-คาบวิชาหลักจะสอนในคาบแรกของวัน ประมาณสองชั่วโมงช่วงเช้า และสอนในวิชาเดิมต่อเนื่องกันประมาณสามหรือหกอาทิตย์ทุกวัน และจะสลับไปมาระหว่างวิชาด้านมนุษยศาสตร์และวิทยาศาสตร์
-นักเรียนจะทำ “ หนังสือเรียนในวิชาหลัก “ ขึ้นเอง เพื่อบันทึกการเรียนรู้ของเขาอย่างมีศิลปะ โดยมิต้องใช้ตำราเรียนหรือสมุดแบบฝึกหัด
-หลังจากวิชาหลักจบลงในแต่ละวัน เด็กๆจะรับประทานอาหารว่าง และเริ่มเรียนวิชาอื่นๆ เช่น ระบายสีน้ำ วาดเขียน ขับร้อง เล่นดนตรี ( รีคอร์เดอร์ พิณ ไวโดลิน เครื่องเป่า ) ยูริธมี่   เขียน อ่าน หัตถกรรม ( นิตติ้ง โครเชต์ ปัก เย็บ และงานไม้) ทำสวน และเกมการละเล่น ในวิชาเหล่านี้เด็ก ๆ จะพบกับครูคนอื่น ๆ ผู้ร่วมทางและถ่ายทอดทักษะพิเศษไปกับเขา

         ๔.๑.๓ ระดับมัธยมปลาย

( ตั้งแต่มัธยม ๓ จนถึงมัธยม ๖ )
-เมื่อพลังแห่งการคิดวิเคราะห์ของวัยแรกรุ่นเริ่มปรากฏ เด็กๆจะได้รับการพัฒนาผ่านวิชาความรู้ต่าง ๆ ที่สอนโดยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะในสาขาวิชานั้น ๆ
-บทบาทของครูคือผู้ช่วยเหลือนักเรียนให้สามารถพัฒนาพลังความคิดของเขาขึ้นเอง
-หัวใจสำคัญของการเรียนคือ ให้นักเรียนมีประสบการณ์ตรงต่อเหตุการณ์นั้น เช่น การทดลองและการสังเกตจากปรากฏการณ์ธรรมชาติ
-การเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วตามธรรมชาติของเด็กวัยรุ่นจะได้รับการตอบสนองด้วยหลักสูตรการเรียนการสอนที่เหมาะสมกับ “ คำถาม “ ภายในใจของนักเรียนที่เกิดขึ้นในแต่ละปี
-วิชาเดิมหลายวิชาจะถูกนำมาสอนด้วยวิธีที่แตกต่างจากเดิมโดยสิ้นเชิง ก่อนหน้านั้นเด็กเรียนรู้ผ่านความรู้สึก ด้วยเรื่องราวโลดโผน ด้วยจินตภาพ  แต่ในระดับมัธยมปลายเด็กจะเรียนรู้และเข้าใจวิชาต่าง ๆ โดยผ่านการนำเสนอ การพูดคุยหารือ การใคร่ครวญ และการขบคิด
วิชาต่าง ๆ ก็คือเนื้อหาสาระของโลก ซึ่งสานทอขึ้นอย่างบูรณาการณ์ อาทิเช่น
-วิทยาศาสตร์ช่วยให้เด็กเรียนรู้ที่จะสังเกตกระบวนการธรรมชาติและกระบวนการกลไก
-ภาษาต่างประเทศช่วยให้เข้าใจวิธีคิดของอีกวัฒนธรรมหนึ่ง และสามารถสื่อสารได้
-คณิตศาสตร์ช่วยให้มีประสบการณ์ในความมหัศจรรย์ของรูปทรง รวมทั้งแบบแผนของตัวเลขและธรรมชาติ
-ศิลปะเปิดโอกาสให้พัฒนาความละเอียดอ่อนภายในต่อกระบวนการที่มีชีวิตขึ้นมา
-หัตถกรรมเอื้อให้เขาเรียนรู้ที่จะนำสุนทรีย์มาสู่โลกแห่งการใช้สอย
-ดนตรีอำนวยให้เขาพัฒนาสำนึกแห่งเสียงที่เป็นของตัวเองขึ้นมา พร้อมทั้งมีประสบการณ์ทางสังคมในการเล่นดนตรีร่วมกัน
ครูจะคัดเลือกเนื้อหาจากหนังสือบางเล่มที่สัมพันธ์กับนักเรียนในห้องเป็นพิเศษ และมอบหมายงานที่เปิดโอกาสให้นักเรียนได้ค้นคว้าวิชานั้นโดยผ่านสื่อต่าง ๆ การประเมินผลจะดูจากธรรมชาติของเด็กแต่ละคนในชั้น
การจัดตารางเรียนจะให้วิชาที่ต้องใช้ความตื่นตัวสูงสุดอยู่ในช่วงเช้าและเป็นวิชาหลัก ส่วนช่วงที่เหลือของวันจะประกอบด้วยวิชาหลากหลาย เช่น ภาษาต่างประเทศ ทักษะการใช้ภาษา วรรณคดี ขับร้องประสานเสียง ออร์เคสตร้า ศิลปะและงานฝีมือ ยูริธมี่ และพละศึกษา

๕. การประเมินผล

การประเมินการเรียนรู้ คือการงอกงามภายในตัวของเด็ก การสังเกตเด็ก คือเครื่องมือการประเมินที่สำคัญของครูวอลดอร์ฟ เช่น ให้เด็กได้สัมผัสกับธรรมชาติ โดยผ่านการเล่นในบ่อทราย แล้วครูสังเกตพฤติกรรมขณะเด็กเล่นบ่อทราย    
ครูต้องทำหน้าที่ในการติดตามประเมินผลความเจริญก้าวหน้าของเด็กในการเรียนรู้ของเด็กเป็นรายบุคคล  ครูมิใช่เป็นเพียงผู้ที่อำนวยความสะดวกในการเรียนรู้  แต่ครูจะถ่ายทอดความคิด  ความรู้สึก  ความมุ่งมั่นและความรักอย่างแท้จริงให้กับเด็กเพื่อให้เด็กได้พบโอกาสของการพัฒนาศักยภาพภายในตนเองได้มากที่สุดและเต็มศักยภาพ
การเรียนในโรงเรียน วอลดอร์ฟ ไม่มีกิจกรรมการแข่งขัน  ไม่มีการให้คะแนนกับเด็กในระดับประถมต้น    ครูจะใช้วิธีการเขียนบันทึกประเมินตัวเด็กเมื่อจบการเรียนในแต่ละปีการศึกษา
ไม่มีการทดสอบและประเมินผลเชิงปริมาณล้วน ๆ ซึ่งเป็นไปเพื่อการทดสอบ รายงานผลการเรียนนอกจากจะบรรยายถึงความสามารถของนักเรียนแล้ว  ยังบรรยายและให้เกียรติต่อพัฒนาการของนักเรียน  ตลอดจนให้เอาเสนอแนะสำหรับอนาคต

สรุป

จุดเด่นของการศึกษาแบบ วอลดอร์ฟ
คำตอบที่ดีที่สุดคือ การศึกษา วอลดอร์ฟ เป็นการสร้างตัวตนของแต่ละคนเพื่อเข้าใจในชีวิตของตัวเอง
เป้าหมายของการศึกษา วอลดอร์ฟ คือ  การให้การศึกษาแก่เด็กแบบองค์รวม ทั้ง Head Heart และ Hand  การจัดแผนการเรียนการสอน เป็นการพัฒนาไปตามช่วงอายุ และสร้างสมดุลย์ระหว่างวิชาการ  ศิลปะและการฝึกฝนด้านการปฏิบัติ
หลักการทั่วไปของโรงเรียน วอลดอร์ฟ มีอาทิเช่น    วิชาการจะยังไม่ถูกสอนในช่วงปีแรกๆของการเรียนเช่นในชั้นอนุบาล  และมีวิชาการเพียงไม่มากในชั้นประถม ๑  การอ่านเริ่มสอนในชั้นประถม ๒    ตัวอักษรแต่ละตัวจะถูกสอนแบบค่อยเป็นค่อยไป
ในระหว่างช่วงประถม ๑-๘ นักเรียนจะมีครูประจำชั้นคนเดียวกันตลอด ๘ ปี
กิจกรรมและวิชาที่เป็นกิจกรรมประกอบหรือวิชาเสริม  ในโรงเรียนกระแสหลัก อาทิเช่น ศิลปะ ดนตรี การเกษตร และภาษาต่างประเทศ ( ๒ ภาษา)  แต่ในโรงเรียน วอลดอร์ฟ กลับถือเป็นวิชาแกนกลาง    ในตลอดช่วงชั้นต้นๆ  ทุกวิชาจะถูกสอนผ่านสื่อทางศิลปะ  เพราะเด็กจะรับรู้ได้ดีกว่าการสอนแบบแห้งๆ
ไม่มีตำราเรียน โดยเฉพาะในห้าชั้นปีแรกของนักเรียน  เด็กๆแต่ละคนจะมี Main lesson book  ซึ่งเป็นสมุดงานประจำตัวที่เด็กจะเติมแต่งในตลอดการเรียนของปี    เด็กทำหน้าที่สร้างตำราเรียนประจำตัวเอง ที่เด็กสามารถบันทึก ประสบการณ์ต่างๆที่เด็กได้เรียนไป    ส่วนในชั้นเด็กโต ก็จะใช้ตำราเรียนเป็นเพียงการเสริม Main lesson work
การเรียนในโรงเรียน วอลดอร์ฟ ไม่มีกิจกรรมการแข่งขัน  ไม่มีการให้คะแนนกับเด็กในระดับประถมต้น    ครูจะใช้วิธีการเขียนบันทึกประเมินตัวเด็กเมื่อจบการเรียนในแต่ละปีการศึกษา
โรงเรียน วอลดอร์ฟ ไม่เห็นด้วยกับการใช้เครื่องมือทางอิเล็คโทรนิค   โดยเฉพาะโทรทัศน์

บรรณานุกรม

หนังสือ
นายแพทย์พร พันธุ์โอสถ การเรียนรู้ของเด็กปฐมวัยไทย ตามแนวคิดวอลดอร์ฟ   รายงานการวิจัยของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี
คุณคือครูคนแรกของลูก  หนังสือ เขียนโดย Rihima Balawin Dancy แปลโดย สุวรรณา โชคประจักษ์ชัด อุชุคตานนท์
บทความ
Erziehungskunst, F. and Steiners,R. การศึกษาเพื่อความเป็นมนุษย์ แปลโดย จันทร์เพ็ญ พันธุโอสถ. เอกสารประกอบการจัดนิทรรศการเนื่องในวาระการประชุมนานาติ ว่าด้วยการศึกษาสมัยที่ 44 ของยูเนสโก ณ เจนีวา กรุงเทพฯ :ปัญโญทัย, 2538.
การศึกษาวอลดอร์ฟ บทความโดย ผศ. ดร.บุษบง ตันติวงศ์ คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ศิลปะการสอนที่มีชีวิต บทความโดย  คุณยุทธชัย เฉลิมชัย
หัวเลี้ยวหัวต่อ เด็กก็ไม่ใช่ ผู้ใหญ่ก็ไม่เชิง หนังสือ โดย Betty Stale แปลโดย จันทร์เพ็ญ พันธุ์โอสถ
Waldorf Education  A Growing School Movement
History of Waldorf schools – Wikipedia, the free encyclopedia
Waldorf schools and Waldorf education – a growing school movement
The Waldorf Movement